-ไทยมีอัตราเงินเฟ้อต่ำเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 67, เท่ากับศูนย์
-บรูไนมีเงินเฟ้อต่ำสุดจากการลดลงของราคาสินค้าบริการด้านที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค
-สาเหตุที่เงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ที่ศูนย์มาจากกำลังซื้อในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของประเทศกลุ่มอาเซียน โดยพบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.-มิ.ย.) ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อต่ำเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค รองจากบรูไนที่ติดลบ 0.26% ซึ่งไทยมีอัตราเงินเฟ้อเท่ากับศูนย์ หรือไม่เปลี่ยนแปลง รองลงมาเป็นกัมพูชา เงินเฟ้อเพิ่ม 0.26%, มาเลเซียเพิ่ม 1.81%, อินโดนีเซียเพิ่ม 2.79%, สิงคโปร์เพิ่ม 2.87%, ฟิลิปปินส์เพิ่ม 3.55%, เวียดนามเพิ่ม 4.08%, และลาวเพิ่ม 25.29%
สาเหตุที่บรูไนมีเงินเฟ้อต่ำสุดมาจากการลดลงของราคาสินค้าบริการด้านที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำ ก๊าซ และการขนส่ง เนื่องจากบรูไนเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน อีกทั้งมีนโยบายควบคุมราคาสินค้า ขณะที่ชาติที่เงินเฟ้อสูงสุดอย่างลาว มาจากการพึ่งพานำเข้าสินค้า หนี้สาธารณะสูง และค่าเงินกีบอ่อน ส่งผลให้สินค้าในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตาม
สำหรับสาเหตุที่เงินเฟ้อไทย 6 เดือนแรกของปี 67 เท่ากับศูนย์ หรือไม่เปลี่ยนแปลงนั้น มีสาเหตุจากกำลังซื้อในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ราคาอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกรอยู่ในระดับต่ำ ค่าไฟฟ้าและน้ำมันดีเซลต่ำกว่าปีก่อน จากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐ
กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 67 ที่ 0-1% อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อในอนาคต ทั้งเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า และภัยธรรมชาติ ขณะที่ไทยมีปัจจัยอื่นที่หนุนภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยวและการลงทุนของภาครัฐและเอกชน มาตรการของภาครัฐ รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ