นักลงทุนมักจะแสดงพฤติกรรมโลภในช่วงตลาดกระทิงหรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ในเชิงบวก เช่น การที่โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในทางกลับกัน ช่วงตลาดหมีหรือสถานการณ์ไม่แน่นอน ความกลัวมักจะเข้าครอบงำพฤติกรรมนักลงทุน เหตุการณ์นี้ชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจากทรัมป์เริ่มออกมาตรการภาษีตอบโต้ ซึ่งส่งผลให้ตลาดทั่วโลกปั่นป่วน แต่คำว่า “ความโลภของตลาด” หรือ “ความกลัวของตลาด” จริง ๆ แล้วหมายถึงอะไร? และสำคัญกว่านั้น — จะวัดอารมณ์ของตลาดได้อย่างไรเพื่อช่วยให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงกับดักยอดฮิตอย่าง “ซื้อแพง ขายถูก”?
หนึ่งในเครื่องมือที่นิยมใช้มากคือ ดัชนีความกลัวและความโลภในตลาดคริปโต (Crypto Fear & Greed Index) บทความนี้จะอธิบายความหมาย หลักการพื้นฐาน การใช้งานในทางปฏิบัติ และข้อควรระวังเมื่อใช้งานดัชนีนี้
ดัชนีความกลัวและความโลภในตลาดคริปโต (Crypto Fear and Greed Index) เป็นตัวชี้วัดความรู้สึกของผู้เข้าร่วมตลาดที่ออกแบบมาเพื่อสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ของนักลงทุน โดยมีเป้าหมายเพื่อระบุว่า ตลาดคริปโตกำลังร้อนแรงเกินไป (เกิดจากความโลภ) หรือกำลังถูกประเมินค่าต่ำเกินไป (เกิดจากความกลัว)
ดัชนีนี้ให้คะแนนในช่วง 0 ถึง 100 ซึ่งแต่ละช่วงของคะแนนจะสะท้อนอารมณ์ของตลาดในระดับต่าง ๆ ดังนี้:
ช่วงคะแนน | ความหมาย |
0-24 | ความกลัวอย่างรุนแรง – ความเชื่อมั่นของตลาดต่ำมาก |
25-49 | ความกลัว – ตลาดมีความระมัดระวัง |
50 | กลาง ๆ – ความรู้สึกของตลาดค่อนข้างคงที่ |
51-74 | ความโลภ – ตลาดมองในแง่บวก |
75-100 | ความโลภอย่างรุนแรง – ตลาดร้อนแรงเกินไป |
ดัชนีนี้วิเคราะห์จากข้อมูลหลัก 7 ประเภท ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเทคนิค ความเคลื่อนไหวของตลาด และความรู้สึกของผู้คนในวงการคริปโต โดยแต่ละแหล่งจะวัดมุมมองที่แตกต่างกันของความรู้สึกในตลาด และมีน้ำหนักที่แตกต่างกันตามความสำคัญ:
ตัวชี้วัด | นำ้หนัก | แหล่งข้อมูล | ความหมาย |
ความผันผวนของราคา | 25% | ความผันผวนของราคา BTC/ETH | การเคลื่อนไหวของราคาระยะสั้นที่รุนแรง เช่น การร่วงหรือพุ่งแรง บ่งบอกถึงความกลัวหรือความโลภอย่างรุนแรง |
ปริมาณการซื้อขายในตลาด | 25% | ปริมาณการซื้อขายแบบ Spot บนตลาดแลกเปลี่ยน | ปริมาณการซื้อขายสูงอาจบ่งชี้ถึง FOMO (ความโลภ) ขณะที่ปริมาณต่ำแสดงถึงความกลัว |
ความรู้สึกในโซเชียลมีเดีย | 15% | X (Twitter), Reddit, Telegram | วัดความถี่ในการพูดคุยและคำสำคัญ เช่น “ตลาดกระทิง” หรือ “ตลาดพัง” |
การครอบงำของ Bitcoin | 10% | ส่วนแบ่งมูลค่าตลาดของ BTC | เงินทุนไหลเข้าหา BTC (สินทรัพย์ปลอดภัย) หรือ altcoin (ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น) |
เทรนด์การค้นหาใน Google | 10% | Google Trends | ตรวจสอบปริมาณการค้นหาคำเช่น “Bitcoin ร่วง” หรือ “ซื้อคริปโต” |
Funding Rate ของฟิวเจอร์ส | 10% | อัตรา funding ของสัญญาฟิวเจอร์สแบบ Perpetual | อัตราบวก (สาย long จ่าย short) บ่งชี้ว่าตลาดร้อนแรงเกินไป; อัตราลบแสดงถึงความกลัว |
Open Interest | 5% | มูลค่ารวมของสัญญาฟิวเจอร์สที่เปิดอยู่ | การใช้เลเวอเรจสูงเพิ่มความผันผวน ซึ่งขยายผลของความกลัวหรือความโลภในตลาด |
ปัจจุบันยังไม่มีดัชนีความกลัวและความโลภในตลาดคริปโตที่เป็นมาตรฐานกลางเพียงหนึ่งเดียว แพลตฟอร์มต่าง ๆ สถาบันวิจัย และตลาดแลกเปลี่ยนต่างก็พัฒนาดัชนีในรูปแบบของตนเอง ซึ่งแต่ละเวอร์ชันมีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของ วิธีคำนวณ แหล่งข้อมูล กลุ่มเป้าหมาย และขอบเขตของตลาด ที่ครอบคลุม
ด้านล่างคือตัวอย่างเวอร์ชันสำคัญของดัชนี และความแตกต่างของแต่ละแบบ:
เวอร์ชัน | ข้อดี | ข้อเสีย | การใช้งานที่เหมาะสม | ความถี่ในการอัปเดต |
Alternative | ครอบคลุมสูง มีข้อมูลย้อนหลังครบถ้วน | ไม่ครอบคลุม altcoin | ใช้วัดความรู้สึกในตลาด BTC ระยะสั้น | รายวัน |
เวอร์ชันจากตลาดแลกเปลี่ยน | ให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ | ขาดความโปร่งใสด้านแหล่งข้อมูล | ใช้สำหรับการเทรดระดับตลาดแลกเปลี่ยน | รายชั่วโมง |
Glassnode | ใช้ข้อมูลแบบ on-chain อย่างเป็นกลาง | มีความล่าช้าในการแสดงข้อมูล | ใช้สำหรับวิเคราะห์แนวโน้มระยะยาว | รายวัน |
Santiment | ครอบคลุม altcoin หลายตัว | ต้องสมัครสมาชิกถึงจะเข้าถึงข้อมูลบางส่วนได้ | ใช้สำหรับการวิเคราะห์ตลาด altcoin | รายวัน |
TradingView (แบบกำหนดเอง) | ปรับแต่งได้ตามต้องการ | ความน่าเชื่อถือขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน | ผสานรวมกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคของผู้ใช้เอง | แล้วแต่ผู้ใช้งานกำหนด |
จากค่าดัชนีที่แสดงออกมา เราสามารถแบ่งอารมณ์ของตลาดออกเป็น 5 ระดับหลัก ได้แก่ ความโลภอย่างรุนแรง, ความโลภ, เป็นกลาง, ความกลัว และความกลัวอย่างรุนแรง ซึ่งแต่ละระดับจะเหมาะกับกลยุทธ์การซื้อขายที่แตกต่างกันไป ดังนี้:
1. ความโลภอย่างรุนแรง (ดัชนีมากกว่า 70)
กลยุทธ์: ขายทำกำไรล่วงหน้าหรือทยอยลดการถือครอง
เหตุผล: เมื่อดัชนีชี้ว่าตลาดกำลังโลภอย่างมาก แสดงว่าตลาดอาจกำลังร้อนแรงเกินไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดการปรับฐาน ควรพิจารณาขายเพื่อทำกำไร หรือวางคำสั่ง stop-loss เพื่อป้องกันความเสียหาย
ตัวอย่าง: หลังจากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในปี 2024 ความรู้สึกของตลาดคริปโตพุ่งขึ้น ดัชนีทะลุ 80 และอยู่ในระดับนั้นนานกว่าหนึ่งเดือน—เป็นสัญญาณชัดเจนในการขายทำกำไร
2. ความโลภ (ดัชนี 50–70)
กลยุทธ์: ถือครองต่อหรือเพิ่มสถานะเล็กน้อย
เหตุผล: ตลาดยังคงมีความเชื่อมั่นในเชิงบวก แต่ยังไม่ถึงระดับที่ร้อนแรงมาก จึงเหมาะกับการถือครองต่อ หรือเพิ่มสถานะเล็กน้อยแบบระมัดระวัง
3. เป็นกลาง (ดัชนี = 50)
กลยุทธ์: เทรดตามเทรนด์ระยะสั้น หรือรอดูสถานการณ์
เหตุผล: อารมณ์ของตลาดอยู่ในระดับสมดุล ไม่มีแนวโน้มชัดเจนไปทางขึ้นหรือลง เหมาะกับการเทรดระยะสั้นหรือหยุดรอดูทิศทางก่อน
4. ความกลัว (ดัชนี 30–50)
กลยุทธ์: พิจารณาเข้าซื้อ
เหตุผล: ความกลัวในระดับปานกลางอาจบ่งบอกถึงโอกาสในการซื้อสินทรัพย์ที่ถูกประเมินค่าต่ำ เหมาะกับการลงทุนระยะยาว
5. ความกลัวอย่างรุนแรง (ดัชนี 0–30)
กลยุทธ์: ซื้ออย่างจริงจัง
เหตุผล: การเทขายจากความตื่นตระหนกในช่วงตลาดกลัวรุนแรง มักเปิดโอกาสให้ซื้อในจุดเข้าที่ดี เพราะมีแนวโน้มว่าตลาดจะฟื้นตัวในภายหลัง
ตัวอย่าง: หลังจากทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ในเดือนเมษายน 2025 ดัชนีลดลงเหลือ 21–25 ต่อเนื่อง เป็นสัญญาณชัดเจนสำหรับการเข้าซื้อ
แม้ว่าดัชนีความกลัวและความโลภจะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ แต่ก็มีข้อจำกัดที่นักลงทุนควรพิจารณาก่อนนำไปใช้ในกลยุทธ์การลงทุนของตนเอง ดังนี้:
1. อย่าพึ่งพาดัชนีเพียงอย่างเดียว
ดัชนีนี้สะท้อนอารมณ์ของตลาดเท่านั้น ไม่ได้แสดงภาพรวมของสภาวะตลาดทั้งหมด จึงควรใช้ร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่น ๆ เช่น RSI, MACD รวมถึงตัวชี้วัดเสริม เช่น มูลค่าตลาดของ stablecoin
2. ใช้ข้อมูลจากหลายเวอร์ชันประกอบกัน
เนื่องจากเวอร์ชันของดัชนีจากแต่ละแหล่งมีความแตกต่างกัน จึงแนะนำให้ติดตามหลายเวอร์ชันพร้อมกัน เช่น ใช้ Alternative.me สำหรับภาพรวมตลาด, เวอร์ชันจากตลาดแลกเปลี่ยนเพื่อดูข้อมูลเรียลไทม์ และ Glassnode สำหรับการยืนยันสัญญาณ
3. เข้าใจวัฏจักรของตลาด
แม้ว่าดัชนีจะสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ในตลาดตามรอบเวลา แต่ไม่ได้สามารถทำนายจุดเปลี่ยนของตลาดได้อย่างแม่นยำ นักลงทุนควรใช้สัญญาณระยะสั้นประกอบกับการวิเคราะห์แนวโน้มระยะยาว
4. จับตาเหตุการณ์สุดโต่ง
เหตุการณ์ภายนอก เช่น การล่มสลายของตลาดแลกเปลี่ยน หรือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ค่าดัชนีพุ่งหรือดิ่งอย่างฉับพลัน ดังนั้น ควรตีความค่าดัชนีโดยอิงกับบริบทของสถานการณ์เศรษฐกิจหรือข่าวสารในอุตสาหกรรมเสมอ
5. บริหารความเสี่ยงให้เหมาะสม
ในช่วงที่ตลาดแสดงความโลภหรือความกลัวอย่างสุดขั้ว ควรพิจารณาตั้งคำสั่ง stop-loss หรือ take-profit เพื่อป้องกันความเสียหายจากความผันผวนที่รุนแรง
ดัชนีความกลัวและความโลภถือเป็นเครื่องมือที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังสำหรับการลงทุนในคริปโต อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตระหนักถึงข้อจำกัดของมัน และใช้ร่วมกับวิธีการวิเคราะห์อื่น ๆ รวมถึงตัวชี้วัดในตลาด การมีสติและการตัดสินใจที่ไม่ยึดติดกับอารมณ์ คือกุญแจสำคัญในการใช้ดัชนีนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว