- ราคาทองคำตลาดนิวยอร์คปรับตัวขึ้น เนื่องจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน
- สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
- นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนี PCE ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (26 ส.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน นอกจากนี้ สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางยังเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 8.90 ดอลลาร์ หรือ 0.35% ปิดที่ 2,555.20 ดอลลาร์/ออนซ์
ในส่วนของสัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 19.7 เซนต์ หรือ 0.65% ปิดที่ 30.453 ดอลลาร์/ออนซ์ สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 6.60 ดอลลาร์ หรือ 0.68% ปิดที่ 972.70 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 20.10 ดอลลาร์ หรือ 2.13% ปิดที่ 962.60 ดอลลาร์/ออนซ์
นายพาวเวลกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ส.ค.) ว่า “ถึงเวลาแล้วที่เฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยลง โดยทิศทางที่จะมุ่งไปสู่การดำเนินการดังกล่าวมีความชัดเจน" ส่วนช่วงเวลาและขนาดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น จะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เฟดได้รับในวันข้างหน้า รวมถึงแนวโน้มของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และความสมดุลของความเสี่ยงในด้านต่างๆ
นักลงทุนมองว่าถ้อยแถลงของนายพาวเวลเป็นการสื่อว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนกันยายน ซึ่งจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในปีนี้และครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปีหรือนับตั้งแต่ปี 2563
นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังจากมีรายงานว่าอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ได้เปิดฉากโจมตีกันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 ส.ค.) โดยกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ระบุว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นการตอบโต้อิสราเอลที่ลอบสังหารนายฟูอัด ชูกร์ ผู้บัญชาการทหารระดับสูงของฮิซบอลเลาะห์เมื่อเดือนที่แล้ว
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนกรกฎาคมของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.5% เช่นกันในเดือนมิถุนายน และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมิถุนายน