- ค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (16-20 ก.ย.) คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.80 บาท/ดอลลาร์
- เงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 19 เดือน ตามการขึ้นราคาทองคำและการเคลื่อนไหวของเงินเยน
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยและพันธบัตรไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า (16-20 ก.ย.) จะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.00-33.80 บาท/ดอลลาร์ จากที่ปิดตลาดในวันศุกร์ที่ 13 ก.ย. 67 ที่ 33.32 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคและการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากการซื้อคืนของนักลงทุนเนื่องจากคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 25 bps. ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. นี้
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นและแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือนที่ 33.26 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่ รวมถึงการแข็งค่าของเงินเยนที่มีแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังได้รับแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ สวนทางกับการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์หลังธนาคารกลางยุโรปยังไม่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมหน้า (แม้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมรอบนี้) ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิตก็ออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 9-13 ก.ย. 67 นักลงทุนนอกประเทศซื้อสุทธิหุ้นไทย 9,474 ล้านบาท และมีสถานะ Net Inflows เข้าสู่ตลาดพันธบัตรไทย 3,692 ล้านบาท (แบ่งเป็นซื้อสุทธิพันธบัตร 3,752 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 60 ล้านบาท)
ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคหลังผลการประชุมเฟด (17-18 ก.ย.) และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ เช่น ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ย. ตัวเลขยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ตลาดยังรอผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (19-20 ก.ย.) ธนาคารกลางอังกฤษ (19 ก.ย.) การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน และข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่น