ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในปี 2568 การส่งออกยางรถยนต์ไทยไปยังสหรัฐฯ จะยังคงมีโอกาสขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5 หรือเท่ากับ 61 ล้านเส้น แม้จะเผชิญกับการเก็บภาษีตอบโต้ที่อาจเริ่มหลังวันที่ 1 เมษายนนี้ เนื่องจากยางรถยนต์นั่งและรถปิกอัพซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 72 ของการส่งออกยางรถยนต์ไทยไปยังสหรัฐฯ ยังสามารถแข่งขันด้านราคาได้ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
อย่างไรก็ตาม หากไทยเป็นประเทศเดียวที่ถูกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่ง อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มยางรถบัสและรถบรรทุกที่มีความเสี่ยงด้านราคามากกว่า
สหรัฐฯ เป็นตลาดที่นำเข้ายางรถยนต์จากไทยมากที่สุดตั้งแต่ปี 2558 โดยในปี 2567 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 26 หรือกว่า 58 ล้านเส้น แบ่งเป็นยางรถยนต์นั่งและรถปิกอัพ 42 ล้านเส้น และยางรถบัสและรถบรรทุก 16 ล้านเส้น ซึ่งไทยมีปริมาณส่งออกสูงกว่าคู่แข่งอย่างเม็กซิโกและเวียดนามถึงเกือบเท่าตัว
หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์จากจีนตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้หลายมาตรการ เช่น การตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรา 301 ไทยได้ขึ้นเป็นผู้นำส่งออกยางรถยนต์ไปสหรัฐฯ ทดแทนจีน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2564 สหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากไทยภายใต้มาตรการ AD เพื่อรับมือกับการย้ายฐานการผลิต
โอกาสการส่งออกยางรถยนต์ไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากการเก็บภาษีตอบโต้ที่อาจประกาศโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในอนาคต โดยไทยและประเทศคู่แข่งหลักมีโอกาสถูกเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน ทั้งนี้การเก็บภาษีดังกล่าวจะพิจารณาจากอัตราภาษีนำเข้าที่ประเทศเหล่านั้นเก็บจากสหรัฐฯ
หากไทยและคู่แข่งถูกเก็บภาษีตอบโต้ในระดับเดียวกัน ยางรถยนต์นั่งและรถปิกอัพยังคงมีโอกาสแข่งขันได้ดี เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่าคู่แข่ง แต่ยางรถบัสและรถบรรทุกอาจเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งมีราคาต่ำกว่าไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 24 และกำลังเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง