tradingkey.logo

ราคาน้ำมันทรงตัวจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน

Investing.com20 พ.ย. 2024 เวลา 3:53

Investing.com - ราคาน้ำมันซื้อขายแบบทรงตัวในตลาดเอเชียวันนี้ ขณะที่นักลงทุนต่างกำลังจับตาความรุนแรงที่อาจเพิ่มขึ้นในความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งสัญญาณการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำมันคงคลังในสหรัฐยังกดดันราคา

ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นบางส่วนในสัปดาห์นี้ จากความเป็นไปได้ของการหยุดชะงักด้านอุปทานเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจทวีความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มอสโกเพิ่มความเป็นไปได้ในการตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ต่อการโจมตีของยูเครน

ในขณะที่การหยุดการผลิตที่แหล่งน้ำมัน Sverdrup ของนอร์เวย์ก็ช่วยหนุนราคาได้บางส่วน แต่การผลิตได้กลับมาดำเนินการต่อในวันอังคาร

น้ำมันดิบเบรนท์ฟิวเจอร์ส ที่จะครบกำหนดในเดือนมกราคมทรงตัวที่ 73.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ น้ำมันดิบ WTI ฟิวเจอร์ส ทรงตัวที่ 69.22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ เวลา 09:30 น. (GMT+7)

จับตาความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

ตลาดน้ำมันกำลังจับตาการหยุดชะงักของอุปทานที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน หลังจากมีรายงานว่าสหรัฐอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลได้

มอสโกก็รับมือกับการเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วยการลดเกณฑ์สำหรับการตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ส่งผลให้ตลาดอยู่ในภาวะตึงเครียดเนื่องจากความขัดแย้งที่เลวร้ายลง

ยูเครนยังคงพุ่งเป้าโจมตีไปที่โครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังไม่ส่งผลกระทบต่ออุปทานมากนัก

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นได้ผ่อนคลายลง หลังรัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียระบุว่าประเทศจะทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์

สินค้าคงคลังน้ำมันสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ตลาดน้ำมันยังถูกกดดันจากข้อมูลอุตสาหกรรมที่แสดงให้เห็นว่าสินค้าคงคลังน้ำมันในสหรัฐเพิ่มขึ้นมากเกินกว่าที่คาดไว้ในสัปดาห์ของวันที่ 15 พฤศจิกายน

ข้อมูลจาก สถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (API) แสดงให้เห็นว่าสินค้าคงคลังน้ำมันเพิ่มขึ้น 4.75 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.8 ล้านบาร์เรลอย่างมาก

โดยรายงานดังกล่าวมักจะแสดงตัวเลขที่คล้ายกันกับ ข้อมูลสินค้าคงคลังน้ำมันอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีกำหนดการณ์จะเผยแพร่ในวันนี้

น้ำมันคงคลังสหรัฐเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก

แนวโน้มดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับความกังวลเกี่ยวกับปัญหาอุปทานน้ำมันส่วนเกินในปี 2025 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความต้องการในกลุ่มผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่เริ่มชะลอตัว

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: เนื้อหาข้างต้นทำหน้าที่เป็นตัวช่วยในการใช้งานแพลตฟอร์มของเรา ไม่ได้ให้คำแนะนำในการซื้อขายและไม่ควรเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจซื้อขายใดๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง